การกำกับดูแลเนื้อหาบนเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ

13/08/2012 เวลา 5:07 PM | เขียนใน กิจกรรมไทยฮอตไลน์ | ใส่ความเห็น

ไทยฮอตไลน์ (www.thaihotline.org) โดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ภายใต้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ร่วมมือกันจัดทำ โครงการพัฒนากลไกการกำกับดูแลเนื้อหาด้วยตนเองของผู้ประกอบการเว็บไซต์และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ภายใต้แนวคิดที่ว่าทุกภาคส่วนควรมีบทบาทหน้าที่ในการดูแล เฝ้าระวัง และสร้างสรรค์สังคม

สืบเนื่องจากที่เว็บไซต์ไทยฮอตไลน์ เปิดรับแจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสมจากภาคประชาชนอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน เมษายน 2552 ที่ผ่านมา พบว่า มีการแจ้งเว็บไซต์ผิดกฎหมายในกลุ่มของเว็บลามกอนาจารมากที่สุด รองลงมาเป็นเว็บการพนัน ในส่วนของเว็บลามกอนาจารนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ประกอบด้วยภาพลามกและการละเมิดเด็ก ซึ่งขัดต่อกฎหมายของหลายๆ ประเทศทั่วโลก กลุ่มอื่นๆ ได้แก่ เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หมิ่นสถาบัน รวมถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหารุนแรง ภาษาหยาบคาย ภาพโป๊ ไม่เหมาะสมต่างๆ ซึ่งในจำนวนนี้ มีหลายกรณีที่เนื้อหาไม่ผิดกฎหมายแต่เข้าข่ายไม่เหมาะสมต่อผู้เยาว์ หรือขัดต่อวัฒนธรรมสังคม ฯลฯ การขาดบรรทัดฐานในการประเมินและตัดสินความเหมาะสมของเนื้อหาว่าอะไรเหมาะไม่เหมาะ เหมาะสมกับใคร ใครเป็นผู้ชี้ขาด การทำงานในปัจจุบันจึงขึ้นอยู่กับผู้โพสต์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ และผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตว่าจะตัดสินอย่างไร จะคงเนื้อหานั้นไว้หรือจะตัดออกเมื่อได้รับการร้องเรียน

โครงการฯ ดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการเว็บไซต์และอินเทอร์เน็ต กับภาคประชาชน ในการสร้างบรรทัดฐานที่จะใช้ในการพิจารณาเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมสำหรับสังคมไทย ที่จะนำมาใช้ร่วมกันในการกำกับดูแลเนื้อหาบนเว็บไซต์ ซึ่งขณะนี้โครงการฯ อยู่ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากหลายๆ ภาคส่วน และคงจะได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยสู่สังคมเป็นระยะๆ ต่อไป

ที่มา: โครงการไทยฮอตไลน์ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย

งานสัมมนา Social Media และการรู้เท่าทันสื่อ ณ โรงแรมเฮอร์มิเทจ รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 29 กรกฎาคม 2555

13/08/2012 เวลา 5:01 PM | เขียนใน กิจกรรมไทยฮอตไลน์ | ใส่ความเห็น

โครงการไทยฮอตไลน์ (www.thaihotline.org) โดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ได้จัดกิจกรรมสัมมนา Social Media และการรู้เท่าทันสื่อ ขึ้น ณ ห้องหิรัญกา โรงแรมเฮอร์มิเทจ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ไปจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกันที่ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นครู ผู้ปกครอง และนักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา รวม 45 หน่วยงาน 191 คน ให้ความสนใจในกิจกรรมเป็นอย่างมาก โดยในช่วงเช้าเป็นเวทีพูดคุยสัมมนาเกี่ยวกับ Social Media ซึ่งเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อสังคม และทำไมเราต้องเท่าทันสื่อ ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการฝึกกระบวนการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้นักเรียนสามารถนำไปขยายผลต่อในโรงเรียนและชุมชนได้

คุณศรีดา ตันทะอธิพานิช ได้อธิบายเกี่ยวกับ Social Media ว่าหมายถึง สื่อทางสังคม หรือการสื่อสารเพื่อประชาชนในสังคม ได้แก่ เว็บไซต์เฟสบุ๊ค ยูทิวบ์ ฟลิกเกอร์ ไฮไฟว์ ทวิตเตอร์ ฯลฯ ที่เราใช้กันอยู่นั่นเอง เหตุที่ต้องมาพูดคุยให้ความสำคัญกับ Social Media ก็ด้วยเพราะมีผู้ใช้จำนวนมาก เติบโตเร็วมาก ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก อินเทอร์เน็ตนั้นมีผู้ใช้มากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก อยู่ในทวีปเอเชียครึ่งนึง และในประเทศไทยมีผู้ใช้ประมาณ 20 ล้าน สำหรับเฟซบุ๊คนั้นยิ่งเติบโตเร็วมาก เพียงไม่กี่ปีก็มีผู้ใช้เกือบ 1 พันล้านคนแล้ว ถือเป็นสื่อที่โตเร็วมากที่สุดอย่างหนึ่ง

ด้วยลักษณะของอินเทอร์เน็ตคือ รวดเร็ว กว้างไกล ไร้พรมแดน นั่นคือเราเขียนอะไร ใส่อะไร โพสต์อะไรขึ้นไป ก็จะมีคนได้รับ ได้เข้ามาอ่านจำนวนเยอะมาก ทั่วโลก ขาดการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานศูนย์กลาง ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ยากที่จะควบคุมดูแลโดยกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง การรู้เท่าทันอินเทอร์เน็ต จึงต้องเท่าทันเนื้อหาข้อมูลที่อ่านว่าไม่ได้ถูกต้อง จริง หรือเป็นเรื่องดีเสมอไป ผู้คนบนอินเทอร์เน็ตก็คือคนธรรมดาที่มีดีเลวปะปนกัน ทำให้มีการหลอกลวงต้มตุ๋น ด่าทอ ในขณะที่มีเพื่อนแท้ที่ดูแลหรือคอยช่วยเหลือกันโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางก็เป็นไปได้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นทั้งผู้รับและผู้ส่งสาร ดังนั้นการจะใส่ภาพใส่ข้อความอะไรก็จะต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบถึงคนอื่น โดยเฉพาะสังคมคนหมู่มาก ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดบนคอมพิวเตอร์ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการดูแลการใช้งาน การเจาะระบบ การดักข้อมูล การนำเข้าเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ลามก การพนัน การส่งต่อข้อมูลที่ผิดกฎหมาย การร่วมเผยแพร่ การหมิ่นประมาท ล้วนแล้วแต่เป็นความผิดมีโทษทั้งจำและปรับ สำหรับผู้ใช้ที่พบเห็นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายหรือเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมสามารถคลิกแจ้งได้ที่ไทยฮอตไลน์ www.thaihotline.org

เกมคอมพิวเตอร์และเกมออนไลน์เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่เด็กๆ จะต้องเท่าทันเกม โดยการไม่ปล่อยให้ตัวเองเล่นเกมจนติด จะต้องเลือกเกมที่เหมาะสม ไม่มีเนื้อหารุนแรง ผิดกฎหมาย หรือผิดศีลธรรม เพราะอาจคุ้นชินกับพฤติกรรมไม่ดีในเกม ควรเล่นเกมวันละ 1-2 ชม.เท่านั้น โดยไม่ละเลยการบ้าน ความรับผิดชอบในหน้าที่ และกิจกรรมอื่นๆ ที่ควรมีอย่างสมดุล เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเกม

สำหรับสมาร์ทโฟนนั้น ค่อนข้างจะใช้กันมาก เพราะราคาถูกลง นอกจากใช้พูดคุยกันแล้ว สามารถดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ต่อเน็ตได้ด้วย ปัญหาคือว่าเด็กใช้โทรศัพท์มากเกินไป นอกจากเสียเงินจำนวนมากไปกับโปรโมชั่นต่างๆ แล้ว ยังรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขณะโทรแนบหู และการอยู่กับตัวเองมากเกินไปก็อาจทำให้เสียการเรียนและสัมพันธภาพกับเพื่อนและครอบครัวได้

อาจารย์พันธุ์ทิพย์ ทิมสุกใส ประธานสาขาครูวิทยาศาสตร์ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าประสบการณ์ที่ต้องทำงานกับเด็กและเยาวชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายไอทีต่างๆ ทำให้พบเห็นปัญหาของเด็กและเยาวชนที่พกเกมหรือโทรศัพท์มือถือติดตัวอยู่ตลอดเวลา ครูในปัจจุบันที่ทำงานกับเด็กก็จะพบปัญหาเด็กที่มีสมาธิสั้นอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กในชั้นอนุบาลที่มาเข้าค่ายหลายคนมีอาการสมาธิสั้น ซึ่งเกมหรือสื่อไอซีทีก็มีส่วนที่ทำให้เด็กเกิดอาการสมาธิสั้น จึงควรทำกิจกรรมฝึกให้เขามีสมาธิและดึงดูดความสนใจมาสู่กิจกรรมที่ทำอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วเกมมีทั้งคุณและโทษ จึงควรนำมาใช้ในด้านที่เป็นประโยชน์มากกว่า และควรเลือกเวลาเล่น จัดเวลาให้เล่นอย่างเหมาะสม ซึ่งคุณครูจะต้องเป็นผู้ดูแลให้ดี และยิ่งมีเรื่องนโยบายการแจกแท็บเล็ตด้วย ก็อาจจะมีส่วนทำให้เกิดปัญหาเด็กติดเกมมากขึ้นในอนาคตหากดูแลกันไม่ดี

นางสาวนิตยา เศรษฐจันทร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ วิทยากรมากประสบการณ์ กล่าวเสริมว่า มีกรณีศึกษามากมายจากผู้ที่มารับคำปรึกษา พบว่าหลายครอบครัวมีปัญหาที่บุตรหลานไม่อยากเรียน และเล่นเกมหาเงินทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะมีรายได้มากกว่าที่ผู้ปกครองหาได้ ซึ่งลูกที่อยู่ในวัยรุ่นก็จะต่อต้านพ่อแม่ตลอด จึงไม่คิดที่จะเรียน ซึ่งคุณแม่ไม่รู้เรื่องว่าลูกเล่นเกมอะไร และมองว่าลูกที่ดีจะต้องทำตามที่แม่บอกกล่าว ซึ่งแม่ก็พยายามควบคุมดูแลไม่ให้เด็กเล่นเกมแล้ว แต่ลูกก็พยายามซ่อน เด็กคนนั้นบอกว่าในเกมนั้นสีสันสดใส เล่นแล้วสนุก แม้จะแพ้ก็ไม่ถูกว่า และลูกก็จะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมจากเกม พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรเข้าใจลูกและพยายามเป็นเพื่อนกับลูก พูดคุยกันให้อยู่ในกฎกติกา ซึ่งหากลูกเล่นเกมอย่างไร้กฎกติกา ก็จะทำให้พ่อแม่ทะเลาะกันและเกิดปัญหาในครอบครัวได้ ซึ่งจริงๆ แล้วสื่อนั้นมีไว้ให้คิด ไม่ใช่มีไว้ให้เชื่อ ปัจจุบันเด็กและเยาวชนในประเทศเกาหลีจะนิยมทำศัลยกรรมกันมาก ต้องการที่จะหุ่นดี หน้าตาดี ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเลย และหากพ่อแม่เขารักลูกเป็นก็จะเสริมสร้างความภูมิใจและมั่นใจให้บุตรหลานของตนเองไม่ให้หลงกับภาพลักษณ์ภายนอก ในจังหวัดนครราชสีมานั้น เด็กและเยาวชนมักจะไปเดินซื้อเครื่องสำอางที่ไนท์บลาซ่า เพราะอยากให้ตัวเองดูสวยดูดี เพราะเข้าใจว่าสวยจึงมีคนรัก แต่ความรักคือการมีความจริงใจให้กัน ไม่หวาดระแวงกัน พ่อแม่จึงควรมีความเชื่อใจให้กับลูก ควรพูดคุยสื่อสารกัน ควรจับถูกมากกว่าจับผิด ชื่นชมและให้กำลังใจลูกมากกว่าจะดุด่าและปรามาส กดดันจนลูกต้องออกไปหาเพื่อนหรือเกม ซึ่งอาจเกิดปัญหาที่ทำให้เสียใจภายหลัง

นางแสงทิพย์ วชิรอนุพงศ์ ผู้ประกอบร้านเกม/อินเทอร์เน็ตในชุมชน กล่าวว่า ร้านอินเทอร์เน็ตของตนจะเปิดถูกต้องตามกฎหมาย และมีการเปิดให้บริการตามเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจะเข้าใช้บริการได้หลังบ่ายสองโมงถึงสองทุ่ม และหลังสี่ทุ่มก็จะไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีนั่งเล่นต่อไปในร้านได้ ในร้านก็จะมีการดูแลโดยไม่ใส่เกมที่รุนแรงลงไป มีการแจ้งเตือนให้เด็กๆ กลับบ้านโดยรับฝากจากผู้ปกครอง ซึ่งจริงๆ แล้วร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ตในนครราชสีมาจะมีจำนวนมาก ซึ่งร้านที่ไม่ดีไม่ดูแลเด็กก็มีอยู่มาก คงจะต้องช่วยกันดูแล เด็กๆ ควรจะเลือกเล่นเกมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากกว่าที่จะเล่นเกมไม่เหมาะสม

อาจารย์ละเอียด เหลืองกระโทก เครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนสวนหม่อน จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่าในฐานะที่ตนเองเป็นครูมายาวนานกว่า 40 ปี และได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ปกครองหลายท่านพบว่ามีหลายเรื่องที่เกิดปัญหาเพราะเด็กเล่นเกม เด็กอยู่ในวัยที่ตามเพื่อน และมักจะขอร้องให้พ่อแม่ซื้อเกมให้ตามเพื่อน เมื่อเล่นแล้วก็จะติดและการเรียนก็ตกลง สายตาก็เริ่มเสีย ซึ่งแก้ไขไม่ได้ มีเด็กที่เล่นเกมมากและส่งผลกระทบต่อสายตาจนตาบอดเลยก็มี ซึ่งเด็กที่ติดเกมจะมีปัญหามากในแง่ของการไม่เชื่อฟังครูและผู้ปกครอง สนใจแต่จะเล่นเกม ยิ่งเด็กที่อยู่กับคุณตาคุณยายแล้ว คุณตาคุณยายก็มักจะตามใจหลาน และซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ให้หลานเพราะเห็นหลานเล่นเกมแล้วมีความสุข ซึ่งเด็กหลายคนเล่นเกินเวลา จนไม่สนใจเรื่องอื่นเลย ซึ่งพ่อแม่ยุคใหม่ต้องสังเกตพฤติกรรมของลูก รู้ว่าลูกเล่นเกมอะไร รวมถึงฝึกระเบียบวินัยลูก และสอนให้ลูกรู้จักแบ่งเวลาให้ดี ผู้ปกครองควรทราบเบอร์เพื่อนสนิทของลูกไว้ด้วย เพื่อจะได้สอบถามการบ้าน ตรวจสอบพฤติกรรมของลูก สอนให้ลูกรู้จักมีความรับผิดชอบ มอบหมายงานและติดตามผลว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งหากเกิดปัญหาก็ต้องรีบแก้ไข ซึ่งเด็กอนุบาลที่เล่นเกมรุนแรงอาจเกิดพฤติกรรมรุนแรง ไปชกต่อยกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้

นานาสาระความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรหลากหลาย ก็ได้แต่หวังว่าพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในบ้านเราคงได้แง่คิดมุมมองดีๆ ในการนำไปปรับใช้กับบุตรหลานในยุคสมัยนี้ที่เด็กเชื่อสื่อมากกว่าเชื่อพ่อแม่

งานสัมมนา Social Media และการรู้เท่าทันสื่อ ณ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันที่ 23 กรกฎาคม 2555

13/08/2012 เวลา 4:39 PM | เขียนใน กิจกรรมไทยฮอตไลน์ | ใส่ความเห็น
ป้ายกำกับ:

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ไทยฮอตไลน์ (www.thaihotline.org) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ได้จัดกิจกรรมสัมมนา Social Media และการรู้เท่าทันสื่อ ขึ้น ณ โรงเรียนปรินส์รอยเยลส์วิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากถึง 39 หน่วยงาน 165 คน


คุณพิสนฑ์ ศรีบัณฑิต เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สาธารณสุขเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวิทยากรท่านหนึ่งในเวทีได้ให้ข้อคิดว่า ปัญหาของเด็กและเยาวชนกับสื่อเป็นของคู่กัน ในปัจจุบัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจำนวนมากในจังหวัดเชียงใหม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เช่น iPhone 4S ซึ่งมีราคาแพงมาก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น ก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมมากมายตามมาโดยเฉพาะการใช้งานที่มากเกินไป การที่เด็กดูสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ สื่อทางโทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต แล้วอยากผอม อยากหน้าขาว อยากมีตาโต จัดฝันแฟชั่น ฯลฯ คือดูสื่อแล้วอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ก็เพราะไม่รู้เท่าทันโฆษณา

คุณนิคม ชัยขุนพล นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวเสริมว่า ทำไมเราต้องรู้เท่าทันสื่อ? และเราสามารถรู้เท่าทันสื่อได้อย่างไร? องค์ประกอบสำคัญสี่อย่าง ได้แก่

1. สามารถเข้าถึงสื่อได้ : คือการเข้าไปใช้สื่อได้ ซึ่งในปัจจุบันเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อได้โดยง่าย ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ซึ่งเมื่อสามารถเข้าถึงสื่อได้ ก็มีโอกาสรู้เท่าทันได้
2. สามารถวิเคราะห์ได้ : ทราบว่าสื่อต้องการบอกอะไรกับเรา ชักจูงให้เราซื้ออะไร ทำอะไร
3. สามารถประเมินค่าได้ : ว่าสิ่งที่สื่อบอกสามารถนำมาใช้ได้จริงมากน้อยแค่ไหน
4. สามารถตอบสนองได้ : คือการเลือกที่จะปฏิเสธสิ่งที่สื่อพยายามบอกได้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ซื้อ หรือแจ้งหน่วยงานเมื่อพบกับโฆษณาที่มีการหลอกลวง

คุณประไพ สุริยะมล (แม่ครูแสงเอ้ย ป่าดำ) ครูภูมิปัญญาไทย รุ่น 7 เห็นว่าสื่อใหม่มีอิทธิพลมาก แต่ไม่อยากให้เด็กหลงลืมสื่อเก่า ไม่ว่าจะเป็นเพลง หรือ ธรรมะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็มีอยู่มากมายในหลายท้องถิ่น เผยแพร่ในระบบวิทยุเอเอ็ม ( A.M.) แต่ปัจจุบัน วิทยุเอเอ็มลดน้อยลงอย่างมากทั้งๆ ที่มีรายการที่ไม่เป็นพิษภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงมีการสอดแทรกเนื้อหาสาระดีๆ และเรื่องคุณธรรมต่างๆ ให้กับผู้ฟัง จึงหวังว่าวิทยุชุมชนจะเป็นสื่อที่ดีสำหรับทุกคนและมีการสืบสานกันต่อไป

คุณอัมพร บุญตัน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชนคนห้วยทราย ในฐานะที่ส่งเสริมเยาวชนผลิตสื่อดี ได้เสนอแนะว่า ผู้ผลิตสื่อเองก็ควรจะผลิตสื่อที่มีจรรยาบรรณ ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตสื่อมักจะผลิตสื่อที่เป็นพิษปริมาณมากกว่าที่เป็นประโยชน์ ทางรัฐเองก็ควรออกกฎหมายควบคุมในเรื่องการจัดการสื่อให้ได้ด้วย และมีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เพื่อควบคุมสื่อให้มีจรรยาบรรณ และส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างสื่อ และสนับสนุนกองทุนสื่อสร้างสรรค์

คุณศรีดา ตันทะอธิพานิช นักวิชาการอินเทอร์เน็ตฯ กล่าวว่า Social Media นั้นเติบโตเร็วมาก หากเรารู้ไม่เท่าทันก็จะตกเป็นเหยื่อ การใช้อินเทอร์เน็ตต้องรู้จักเลือกอ่านเลือกเชื่อเนื้อหา เลือกคบคน และไม่ใช้เวลาออนไลน์มากเกินไป การเล่นเกมสามารถทำได้ แต่ควรเลือกเกมที่ไม่รุนแรง ไม่ผิดศีลธรรม และควบคุมเวลาการเล่นของตนเองอย่างมีวินัย ต้องมีสมดุลในชีวิต เพราะนอกจากการออนไลน์การเล่นเกมยังมีกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับคนจริงๆ สังคมจริงๆ ที่ควรทำมากกว่านั่งขลุกหน้าจอ การใช้โทรศัพท์มือถือ ก็ต้องเท่าทันในแง่ของโฆษณาโปรโมชั่นต่างๆ การหลีกเลี่ยงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ออกมาจากโทรศัพท์ และมารยาทในการใช้โทรศัพท์โดยไม่รบกวนคนรอบข้าง ฯลฯ

ทุกคนสามารถร่วมด้วยช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสเมื่อพบเนื้อหาไม่เหมาะสม เว็บไซต์ผิดกฎหมายต่างๆ ผ่านไทยฮอตไลน์ www.thaihotline.org โดยสามารถแจ้งเนื้อหาในกลุ่มสื่อลามกและการละเมิดและหาประโยชน์จากเด็ก สื่อลามกอนาจารและการค้าประเวณี การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล หมิ่นประมาท หมิ่นสถาบัน การก่อการร้าย การพนัน ยาเสพติด การละเมิดลิขสิทธิ์ ฟิชชิ่ง (ฉ้อโกงทางการเงิน) ขายยาผิดกฎหมาย ฯลฯ

ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมงานมหกรรมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี พ.ศ. 2554 ขึ้น ระหว่างวันที่ 25-27 มีนาคม 2554 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

21/03/2011 เวลา 8:49 AM | เขียนใน กิจกรรมไทยฮอตไลน์ | ใส่ความเห็น

มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยเป็นองค์กรเพื่อสังคม ทำงานด้านการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ไอทีในทางสร้างสรรค์ ร่วมกับ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้  (TK park) สังกัดสำนักงานบริหารองค์ความรู้สำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดจัดงานมหกรรมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี พ.ศ. 2554 ขึ้น ระหว่างวันที่ 25-27 มีนาคม 2554 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เวลา 11.00 – 17.30 น. ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 5 ใน concept  เรียนรู้เรื่อง New Media ,  Social Network , ICT Creative Use  วัยรุ่น วัยใส วัยไหนๆ คนพิการหรือผู้สูงอายุ ก็ใช้ ICT ได้อย่างสนุก ปลอดภัย ได้ประโยชน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ สร้างความตระหนัก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เรื่องการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ หลีกเลี่ยงภัยหรือผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการใช้งานที่ไม่เหมาะสมต่างๆได้อย่างปลอดภัย

     กิจกรรมภายในงาน จะมีสัมมนาพูดคุยให้ความรู้ ชมภาพยนตร์ เล่นเกม ตอบคำถามชิงรางวัล กิจกรรมบนเวที การแสดงอื่นๆอีกมากมาย และยังได้พบกับแขกรับเชิญพิเศษ คุณรัฐ ศิรัฐ วิทยถาวรวงศ์ นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่องสุดเขตเสลดเป็ด และทีม Duocore TV ที่จะมาร่วมพูดคุยในเรื่อง “เทคโนโลยีการเรียนรู้ใหม่ๆรับรองได้ว่าอินเทรนด์” นอกจากนี้ยังสามารถร่วมสนุกและได้ความรู้ไปกับบูธต่างๆที่จัดขึ้นภายในงานด้วย

 

 กำหนดการกิจกรรมงานมหกรรมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 5
 ระหว่างวันที่ 25-27 มีนาคม 2554

 กิจกรรมวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2554

บริเวณห้อง Auditorium

13.00 – 15.00
     – พิธีเปิดงาน มหกรรมอินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 5 ประธานในพิธี นางเมธินี เทพมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
     –
พิธีประกาศรางวัลการประกวดสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ ครั้งที่ 3 ประเภท E-learning ชิงถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี
     – เปิดบูธแสดงผลงานสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์
 
บริเวณลานสานฝัน

15.00 – 16.00
     – แนะนำกิจกรรมในงานมหกรรมฯ เปิดตัวมาสคอท และ ตัวตลกโบโซ่บิดลูกโป่งแบบ Chic Chic และ การประกาศรางวัลในการประกวดการแต่งคำขวัญ หัวข้อ “เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ รู้ทันสื่อไอซีที”

16.00 – 17.30
     – เกมบันไดไอที: รู้จักใช้ไอทีอย่างสร้างสรรค์
     – เกมไอซีทีปลอดภัย ใครๆ ก็กด “Like” 
     – ตอบคำถามชิงรางวัลมากมาย

บริเวณลานหน้าห้องมินิเธียเตอร์ 1-2

11.00 – 17.30
     – บูธนำเสนอผลงาน E-Learning สร้างสรรค์ของนักเรียนจำนวน 6 บูธ
     – บูธ ศอบท.: แสดงอุปกรณ์นวัตกรรมใหม่ด้านโทรคมนาคม เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ โดย ศูนย์สาธิตอุปกรณ์และบริการโทรคมนาคมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (ศอบท.)
     – บูธไซเบอร์คิด: เรียนรู้ทักษะการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย 


  กิจกรรมวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2554

บริเวณลานสานฝัน

11.00 – 12.00
     – แนะนำกิจกรรมในงานมหกรรมฯ เปิดตัวมาสคอท และ ตัวตลกโบโซ่บิดลูกโป่งแบบ Chic Chic

13.00 – 15.00 
     – การเสวนาในหัวข้อ “เทคโนโลยีการเรียนรู้ใหม่ๆ รับรองได้ว่าอินเทรนด์” โดยทีม Duocore TV คุณออยและคุณโมเล็ก และพบกับดารารับเชิญ คุณรัฐ ศิรัฐ วิทยถาวรวงศ์ นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่องสุดเขตเสลดเป็ด

15.00 – 15.30
     – การแสดง: เต้นฮูลาฮูปประกอบลีลาสุดมันส์

15.30 – 16.00
     – การแสดงดนตรี : เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ

16.00 – 17.30 
     –
เกมบันไดไอที: รู้จักใช้ไอทีอย่างสร้างสรรค์
     – เกมไอซีทีปลอดภัย ใครๆ ก็กด “ Like” 
     – ตอบคำถามชิงรางวัลมากมาย
   
ห้องมินิเธียเตอร์1

13.00 -15.00
     – ภาพยนตร์เรื่อง The Social Network

บริเวณลานหน้าห้องมินิเธียเตอร์ 1-2

11.00 – 17.30
     –
บูธ ศอบท : แสดงอุปกรณ์นวัตกรรมใหม่ด้านโทรคมนาคม เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ  โดย ศูนย์สาธิตอุปกรณ์และบริการโทรคมนาคมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (ศอบท.)
     – บูธไซเบอร์คิด : เรียนรู้ทักษะการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย
     – บูธไทยกิฟวิ่ง : ไก่การบูร การทำดอกไม้จากใบเตย และ กลุ่มสวยด้วยใจไปทุกที่ : การเย็บเต้านมเทียม
เพื่อบริจาคให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
     – บูธมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ : ทำเข็มกลัดไอที
     – บูธโครงการโรงพยาบาลมีสุข มูลนิธิกระจกเงา : ถ่ายรูปจากเว็บแคม
     – บูธกลุ่มบริษัท PWD Group : ผู้ดำเนินงานด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ


 กิจกรรมวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2554

บริเวณลานสานฝัน

11.00 – 12.00
     –แนะนำกิจกรรมในงานมหกรรมฯ เปิดตัวมาสคอท และ ตัวตลกโบโซ่บิดลูกโป่งแบบ Chic Chic

13.00 – 14.00
     – การเสวนาในหัวข้อ “เว็บของเรา ใครๆ ก็เข้าได้” (Web Accessibility)
           โดยวิทยากร
            คุณจิรัฏฐ์ วชิรเสรีชัย : ศูนย์สาธิตอุปกรณ์และบริการโทรคมนาคมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
            คุณน้ำหนึ่ง มิตรสมาน: สถาบันวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก
            คุณจตุพล หนูท่าทอง : สมาคมคนตาบอด

14.00 – 14.30 
     – การแสดงโชว์มายากล โดย Mr. Magic

14.30 – 16.00
     – การเสวนาในหัวข้อ “ระบบการกำกับดูแลเนื้อหาสำหรับเว็บมาสเตอร์ยุคใหม่ (Content Self-Regulation) ”
            โดยวิทยากร
             คุณแชมป์ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เว็บมาสเตอร์
www.exteen.com
             คุณเจริญ ลักษณ์เลิศกุล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด www.sanook.com  

16.00 – 16.30
     – การแสดงโชว์สร้างแรงบันดาลใจ โดย กลุ่มดินสอสีรุ้ง

16.30 – 17.30
     – เกมบันไดไอที: รู้จักใช้ไอทีอย่างสร้างสรรค์
     – เกมไอซีทีปลอดภัย ใครๆ ก็กด “Like” 
     – ตอบคำถามชิงรางวัลมากมาย
  
ห้องมินิเธียเตอร์ 2

13.00 – 15.00
     –
นิทรรศการแสดงอุปกรณ์โทรคมนาคม สำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุ และชมหนังสั้นเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อคนพิการ “Disability Film Award 2009”,  ดช.แฮมเบอร์เกอร์, และ Talk จาก Disability Right โดย ศูนย์สาธิตอุปกรณ์และบริการโทรคมนาคมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (ศอบท.)

บริเวณลานหน้าห้องมินิเธียเตอร์ 1-2

11.00 – 17.30
     – บูธไซเบอร์คิด : เรียนรู้ทักษะการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย 
     – บูธไทยกิฟวิ่ง : ไก่การบูร การทำดอกไม้จากใบเตย
     – บูธกลุ่มสวยด้วยใจไปทุกที่ : การเย็บเต้านมเทียมเพื่อบริจาคให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
     – บูธโครงการโรงพยาบาลมีสุข มูลนิธิกระจกเงา : ถ่ายรูปจากเว็บแคม
     – บูธกลุ่มบริษัท PWD Group : ผู้ดำเนินงานด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ

รายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่เพื่อร่วมกิจกรรม (ฟรี)

http://www.inetfoundation.or.th/news.php?act=show&Id=189

“หนอน” ขยายพันธุ์บนโลก Facebook

18/11/2010 เวลา 6:58 AM | เขียนใน กฏหมายเน็ตน่ารู้ | ใส่ความเห็น

ผู้ใช้ Social Network อย่าง Facebook ควรระวังหนอนอันตราย ที่ชอบฝังมากับลิงค์ต่างๆ โดยลักษณะการโจมตีด้วยรูปแบบที่เรียกว่า “คลิกแจ็กกิ้ง” (Clickjacking) ซึ่ง เป็นการแสดงตัวด้วย profile ของเพื่อนๆ พร้อมแนะนำลิงค์น่าสนใจ หรือ Like ใน Facebook โดยการรายงานล่าสุดได้พบตัวอย่างลิงค์ เช่น “LOL This girl gets OWNED after a POLICE OFFICER reads her STATUS MESSAGE”   และ “Shocking!!! This Girl Killed Herself After Her Dad Posted This Photo” โดยไม่ว่าใครที่คลิกลิงค์นี้ คุณคือ “เหยื่อ” เพราะเมื่อคุณคลิกลิงค์ดังกล่าวก็จะถูกพาไปยังอีกหน้าเว็บหนึ่ง ซึ่งหนอนจะหลอกผู้ใช้ให้คลิก Like เพื่อเริ่มแพร่ข้อความ และลิงค์ ผ่าน Wall ของผู้ใช้บน Facebook ไปยังเพื่อนๆของคุณ อย่างรวดเร็ว

 

แต่ก็อย่านิ่งนอนใจไปว่าการหันมาใช้ Social Network อย่าง Twitter จะปลอดภัย เพราะก่อนหน้านี้ Twitter ก็เคยได้รับผลกระทบจากหนอน ที่ใช้ช่องโหว่การทำงานของคำสั่ง onMouseOver ที่เพียงแค่ลากพอยน์เตอร์เมาส์ไปบนลิงค์ ผู้ใช้ที่ตกเป็นเหยื่อก็จะถูกพาไปยังเว็บไซต์โป๊ทันที  แต่หนอนตัวใหม่ล่าสุดนี้ ซ่อนมากับข้อความทวีตที่อันตราย ซึ่งจะเริ่มต้นด้วย “WTF” (WTF: ) ที่ใช้เทคนิค CSRF (Cross-Site Request Forgery) โดยมาพร้อมกับลิงค์ไปยัง URL ที่เมื่อผู้ใช้เผลอคลิก มันจะสามารถโพสต์ข้อความจากแอคเคาต์ทวิตเตอร์ของเหยื่อ(ตัวอย่างเช่น I love anal sex with goats) ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งตอนนี้ทาง Twitter ได้ปิดการทำงานของลิงค์เหล่านี้แล้ว โดยได้เริ่มแก้ไข และเริ่มลบทวีตอันตรายออกจากระบบแล้ว Graham Cluley จาก Sophos กล่าว

ประเด็นที่สำคัญนั่นคือ หากผู้ใช้ไม่คลิกลิงค์อันตรายข้างต้น การขยายพันธุ์ของหนอนก็จะไม่เกิดขึ้น ชาวออนไลน์ ที่รับทราบแล้ว ฝากเตือนเพื่อนๆ ให้ระวังตัวกันหน่อยนะคะ

Clickjacking เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นในปี 2008 โดย Jeremiah Grossman และ Rober “RSnake” Hansen นักวิจัยระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บแอพพลิเคชัน ซึ่งอธิบายรูปแบบการโจมตีนี้ได้ว่า เป็นการยอมให้เว็บไซต์อันตรายเข้าควบคุมการคลิกลิงค์ของผู้เยี่ยมชมที่ตกเป็นเหยื่อ โดยใช้ Iframe ครอบทั้งหน้าเว็บ เพื่อสร้างลิงค์ที่คลิกกลับมายังหน้า profile ของเหยื่อ

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ตราบใดที่เหยื่อล็อกอินในระบบ profile ของเขาก็จะแนะนำลิงค์ของหนอนไปให้กับเพื่อนใหม่โดยอัตโนมัติ ซึ่งทำให้เกิดข้อความขยะเป็นจำนวนมาก

ไทยฮอตไลน์จะนำข่าวคราวอัพเดทเรื่องภัยออนไลน์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในการเรียนรู้เพื่อป้องกันตนเองจากภัยแฝงบนโลกไซเบอร์ ทุกท่านสามารถร่วมสร้างสังคมออนไลน์ปลอดภัยโดยการคลิกแจ้ง www.thaihotline.org  เมื่อพบเว็บไซต์ไม่เหมาะสม

แหล่งที่มาเว็บไซด์

http://www.arip.co.th/news.php?id=412368

http://www.lookjang.com/viewtopic.php?f=16&t=108

http://www.arip.co.th/news.php?id=412313

ขอเชิญชวนเข้าร่วมประกวดสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ ประเภท E-learning ชิงถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ

15/10/2010 เวลา 7:13 AM | เขียนใน กิจกรรมไทยฮอตไลน์ | ใส่ความเห็น

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้  (TK park) สังกัดสำนักงานบริหารองค์ความรู้ สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ขอเชิญโรงเรียน ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมประกวดสื่อดิจิทัล ประเภท E-Learning ชิงถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ รัตนราชสุดา ทุนการศึกษา และของรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย ดังนี้

รางวัล แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ระดับประถม และ ระดับมัธยม ดังนี้

ระดับประถม  

  • รางวัลที่ 1 ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
    (มอบให้โรงเรียน) เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมของรางวัลและเกียรติบัตร สำหรับทีม
  • รางวัลที่ 2 โล่เกียรติยศ (มอบให้โรงเรียน) เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมของรางวัลและเกียรติบัตร สำหรับทีม
  • รางวัลที่ 3 โล่เกียรติยศ (มอบให้โรงเรียน) เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมของรางวัลและเกียรติบัตร สำหรับทีม
  • รางวัลพิเศษ จำนวน 2 รางวัล  ได้แก่ ผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  เงินรางวัล 2,500 บาท พร้อมของรางวัลและเกียรติบัตร สำหรับทีม

ระดับมัธยม 

  • รางวัลที่ 1 ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (มอบให้โรงเรียน) เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมของรางวัลและเกียรติบัตร สำหรับทีม
  • รางวัลที่ 2 โล่เกียรติยศ (มอบให้โรงเรียน) เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมของรางวัลและเกียรติบัตร สำหรับทีม
  • รางวัลที่ 3 โล่เกียรติยศ (มอบให้โรงเรียน) เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมของรางวัลและเกียรติบัตร สำหรับทีม
  • รางวัลพิเศษ จำนวน 2 รางวัล  ได้แก่ ผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  เงินรางวัล 2,500 บาท พร้อมของรางวัลและเกียรติบัตร สำหรับทีม

 

เกณฑ์การตัดสิน 

  • ความสวยงามและความน่าสนใจในการนำเสนอ 40 คะแนน
  • เนื้อหา และ การอ้างอิง  40 คะแนน
  • เทคนิค 20 คะแนน

กำหนดการรับสมัครและส่งผลงาน

  • เปิดรับสมัคร ตั้งแต่เดือน ต.ค. – 30 พ.ย. 2553 โดยให้สมัครออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ www.inetfoundation.or.th เพื่อรับหมายเลขประจำทีม แล้วจึงดาวน์โหลดใบสมัคร (ตัวจริง)
    ส่งมาพร้อมกับผลงานภายหลัง
  • ส่งผลงานเข้าประกวด และใบสมัคร (ตัวจริง) ได้ตั้งแต่เดือน ต.ค. – 31 ธ.ค. 2553 (นับจากตราประทับวันที่จากไปรษณีย์เป็นหลัก) วิธีการส่งผลงาน ให้บันทึกผลงานลงแผ่น CD/ DVD (ไฟล์ต้นฉบับ ประกอบด้วยรูปภาพ วีดีโอ เนื้อหา ฯลฯ)
    และ ส่งผลงานทางไปรษณีย์เท่านั้น ถึง  มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย (ส่งผลงาน E-learning)

ชั้น 10 ห้อง 1004 อาคารบางกอกไทยทาวเวอร์ 108 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

  • คณะกรรมการตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวด เดือน ม.ค.2554
  • พิธีมอบรางวัลที่ อุทยานการเรียนรู้ TK park  ภายในเดือน ก.พ. 2554

อ่านกติการการประกวดและรายละเอียด พร้อมดาวโหลดใบสมัคร

ส่งผลงานสื่อดิจิทัลกันเข้ามาประกวดเยอะๆนะคะ ^^

แนะนำโครงการ “ Camfrog สร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่สนุก ”

05/10/2010 เวลา 7:54 AM | เขียนใน NewsUpdate | ใส่ความเห็น

          จากสภาพปัญหาทางสังคมที่เป็นภัยมืดทางอินเตอร์เน็ตที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมากมีพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตในทางที่ผิด บวกกับสภาพสังคมในปัจจุบันนี้ที่ผลักดันให้คนมีค่านิยมเรื่องเพศในทางที่ผิดๆ ก่อให้เกิดประเด็นปัญหาใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นร้อนมากต่อเนื่องมานานจนถึงปัจจุบันนี้


          ประเด็นร้อนที่กล่าวมาข้างต้น ได้แก่ โปรแกรมแคมฟร็อค จริงๆแล้วผู้คิดค้นโปรแกรมนี้ เขาคงต้องการให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนใบ้ที่ด้อยโอกาสทางการสื่อสาร แต่สิ่งที่เราเห็นอยู่ในตอนนี้ กลับกลายเป็นว่า คนไทยจำนวนมากเอาแคมฟร็อคไปใช้ในทางที่ผิด ไม่สร้างสรรค์ บ้างก็ใช้เพื่อตอบสนองความต้องการหรือความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองในเรื่องเพศ บ้างก็ใช้เพื่อเติมเต็มความต้องการด้านการเป็นที่ยอมรับจากผู้อื่นโดยไม่ได้ค านึงว่าความยอมรับที่ได้มานั้นหลอกลวงหรือไม่ อย่างไร          เพื่อมีส่วนช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ จึงได้จัดโครงการ “ Camfrog สร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่สนุก ” ขึ้นมาโดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะสามารถลดการใช้โปรแกรมแคมฟร็อคในทางที่ผิดๆ และ ช่วยยกระดับสังคมไทยให้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย


          สรุปได้ว่า…โครงการนี้มีชื่อโครงการว่า “Camfrog สร้างสรรค์ ไม่ใช่สนุก โดยโครงการมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทราบถึงข้อดีของโปรแกรม Camfrog เช่น การประชุมทางไกล การสนทนากันของผู้พิการทางหู เป็นต้น และต้องการให้ตระหนักถึงข้อเสีย เมื่อน าโปรแกรม Camfrog ไปใช้ในทางที่ผิด อีกทั้งยังต้องการให้ผู้คนมาแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกัน จนกลายเป็น “เวทีแห่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายของสังคม” โดยcampaignนี้ จะเป็นการท าการประชาสัมพันธ์บนอินเตอร์เน็ตโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดและวัดผลของโครงการวันที่ 15 กุมภาพันธ์ กลุ่มเป้าหมายหลักของการท าPR คือ กลุ่มที่เล่นอินเตอร์เน็ต เครื่องมือที่จะใช้ประชาสัมพันธ์บนอินเตอร์เน็ต

ขอขอบข้อมูลจาก : learners.in.th

10 ความเสี่ยงของ ”Facebook” อาจทำร้ายชีวิตคุณได้

22/09/2010 เวลา 9:25 AM | เขียนใน กฏหมายเน็ตน่ารู้ | ใส่ความเห็น

1.ได้อยู่ร่วมกับคนครอบครัวอีกครั้งหลังจากมีเหตุให้ต้องแยกกันไป ซึ่งถือเป็นข่าวดี แต่ก็อาจไม่ใช่ทั้งหมด อย่างกรณีของ “พรินซ์ ซากาลา” ที่ค้นพบลูกๆ ของเธอจากเฟซบุ๊ก โดยเธออ้างว่าอดีตสามีเป็นผู้ที่พาลูกๆ หนีไปนานนับสิบปี แต่แม้ว่าแม่และลูกจะได้กลับมาเห็นหน้ากันอีกครั้ง แต่ติดปัญหาตรงที่เด็กๆ เติบโตมาจากการดูแลของพ่อ และไม่ต้องการที่จะอยู่ร่วมกับแม่ ขณะที่เรื่องราวของ “เอมี สวอร์ด” น่าตกใจกว่า เมื่อเธอถูกพิพากษาจำคุก 9-30 ปี ในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กชายอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นลูกชายในไส้ที่เธอปฏิเสธจะเลี้ยงดู แต่กลับมารู้จักกันทางเฟซบุ๊ก

 2. เจ้าหนี้สามารถตามคุณ โดยเจ้าหนี้จะใช้เฟซบุ๊กเพื่อประเมินว่าคุณเป็นคนที่น่าจะปล่อยกู้ให้ หรือไม่ รวมทั้งใช้เป็นช่องทางที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของลูกหนี้ และจับตาดูสินทรัพย์ที่อาจจะยึดมาชดใช้หนี้ที่คุณติดอยู่

 3. บริษัทประกันอาจปฏิเสธการจ่ายชดเชย ดังกรณีของผู้หญิงที่ได้รับค่าชดเชยความเครียดจากการทำงาน แต่กลับไม่ได้รับเงินในส่วนนี้เพราะเธอโพสรูปที่กำลังยิ้มไว้บนเฟซบุ๊ก บริษัทประกันจึงขอตัดสิทธิประโยชน์ส่วนนี้ โดยอ้างว่าภาพดังกล่าวแสดงว่าเธอพร้อมที่จะกลับมาทำงาน จึงมีคำแนะนำไม่ให้เปิดเผยเรื่องส่วนตัวบนเฟซบุ๊กมากเกินไป

 4. อดีตคนรักอาจใช้เฟซบุ๊กในคดีหย่าร้าง ปัจจุบันเฟซบุ๊กเป็นส่วนที่ทนายจะแสวงหาข้อมูลของสามีหรือภรรยาของลูกค้า เพื่อใช้เป็นหลักฐานถึงการละเลยไม่เอาใจใส่ การแอบคบกิ๊ก หรือหลอกลวง มีกรณีที่คุณแม่ต้องสูญเสียสิทธิในการเลี้ยงดูลูกๆ หลังจากอดีตสามีพิสูจน์ว่าเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นเกมฟาร์มวิลล์ แทนที่จะใช้เวลาอย่างมีค่าเพื่อลูกๆ

 5.เป็นสาเหตุให้ คุณเครียด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสโตนี บรู๊ก ในนิวยอร์ก พบว่า สาวๆที่ใช้เวลาส่วนใหญ่สนทนาเรื่องราวชีวิตกับผองเพื่อนมีความเป็นไปได้ มากที่จะเครียด เพราะการใช้เวลามากเกินไปในการนินทาและคุยถึงปัญหาต่างๆ จะทำให้คุณรู้สึกแย่ลง ไม่ใช่ดีขึ้น ผลการศึกษาดังกล่าวก็สะท้อนว่าเว็บเครือข่ายสังคม อาจทำให้ผู้คนติดต่อเพื่อนๆ ได้ง่าย และมักพูดคุยเรื่องไม่เป็นเรื่อง

 6. กระทบต่อหน้าที่การงาน จากผลสำรวจความเห็นของนายจ้างในอังกฤษ พบว่านายจ้างเหล่านี้ปฏิเสธว่าจ้างผู้สมัครที่เคยโชว์พฤติกรรมแย่ๆ อาทิ เล่าเรื่องที่ตัวเองเมาจนหัวราน้ำ โพสภาพกิจกรรมนอกลู่นอกทาง และการใช้ภาษาแบบแย่ๆ ขณะที่ในสหรัฐ ราว 20% ของนายจ้างยอมรับว่าใช้เฟซบุ๊กในการหาผู้สมัครที่มีศักยภาพ ส่วนราว 9% บอกว่ากำลังจะเริ่มใช้เฟซบุ๊กในเร็วๆ นี้

 7.แฉความลับที่ปิด ซ่อนไว้ เพราะแม้คุณจะระมัดระวังแต่ผองเพื่อนปากสว่างของคุณอาจไม่ได้ระวังด้วย และอาจเผลอโพสต์ข้อความที่แฉความลับของคุณ ยิ่งกว่านั้น ยังอาจบ่งบอกสิ่งที่อยู่เบื้องหลังตัวตนของคุณ ยกตัวอย่างนักศึกษาได้ออกแบบกระบวนการทำงานที่สามารถบ่งบอก ได้อย่างแม่นยำว่าผู้ใช้รายใดที่เป็นเกย์ โดยวิเคราะห์จากจำนวนเพื่อนๆ ที่เป็นเกย์

 8.ทำให้คู่รักหรือพวกตามรังควานติดตามความ เคลื่อนไหวของคุณได้ ง่ายขึ้น หากไม่มีเฟซบุ๊ก คนเหล่านี้อาจต้องหาวิธีอื่นที่จะไล่ตามคุณ และมิจฉาชีพติดตามเหยื่อได้ง่ายและตอบกลับความเคลื่อนไหว ต่างๆ แม้เหยื่อจะพยายามตัดความสัมพันธ์แล้วก็ตาม อย่างกรณีของหญิงรายหนึ่งที่เปลี่ยนสถานะบนเฟซบุ๊กว่า “โสด” ถูกฆาตกรรมโดยสามีที่เพิ่งถูกบอกเลิก โดยหลังจากที่เขาเห็นภรรยาเปลี่ยนสถานะเป็นโสด เขาก็บุกเข้าไปทำร้ายเธอในบ้าน

 9.คุณอาจถูกฟ้องหมิ่นประมาทได้ มีหลายกรณีที่ถูกฟ้องเพราะเนื้อหาที่โพสต์บนเฟซบุ๊ก อย่างในอังกฤษ นักธุรกิจหญิงชนะคดีหลังจากฟ้องร้องเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่สร้างโปรไฟล์ปลอม ที่เต็มไปด้วยข้อความหมิ่นประมาท

10.เด็กๆ อาจตกเป็นเหยื่อของคนร้าย อย่างกรณีของเด็กสาวในอังกฤษที่ถูกฆ่าโดยผู้ร้ายข่มขืน ซึ่งโพสตัวตนบนเฟซบุ๊กเป็นวัยรุ่นเหมือนกัน แม้ในอังกฤษจะมีแอพพลิเคชั่น “panic button” สำหรับให้วัยรุ่นแจ้งเรื่องต้องสงสัยไปยังทางการโดยตรง แต่แอพพลิเคชั่นนี้ก็ยังไม่ได้มีใช้ในสหรัฐหรือเวอร์ชั่นอื่นๆ

ที่มา

http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1878335

YouTube บางเรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้

14/09/2010 เวลา 6:59 AM | เขียนใน NewsUpdate | ใส่ความเห็น

ผู่ร่วมก่อตั้ง YouTube ทั้งสามคนได้แก่ Steven Chen, Chad Hurley และ Jawed Karim เคยทำงานที่ PayPal หรือในแต่ละสัปดาห์มีผู้อัพโหลดคลิปขึ้นไปบน YouTube มากพอๆ กับการผลิตภาพยนต์ 60,000 เรื่อง และชื่อ YouTube.com ถูกจดโดเมนในวันวาเลนไทน์ปี 2005

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเปรียบเทียบที่ว่า หากจะให้ชมคลิปในยูทูบได้หมดจะต้องใช้เวลากว่า 1,700 ปี (ประมาณเกิดใหม่ 20 รอบ) หรือผู้ชมกว่าครึ่งหนึ่งของยูทูบอายุต่ำกว่า 20 ลงมา และคลิปที่มีผู้ชมมากที่สุดเป็นมิวสิควิดีโอเพลง Bad Romance ของ Lady Ga Ga (250 ล้านครั้ง) ตามด้วยคลิปน้องงับนิ้วพี่ชาย? ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ YouTube ที่นำมาฝาก

ที่มา

http://www.arip.co.th/news.php?id=411891

11 เหตุผลใหญ่ที่ทำให้ facebook ของคุณถูกระงับ

09/09/2010 เวลา 5:43 AM | เขียนใน NewsUpdate | 1 ความเห็น

ทำไมอยู่ดีๆ account ของคุณก็ใช้ไม่ได้ขึ้นมาซะเฉยๆ พอล็อกอินเข้ามาใน facebook แล้วเจอแต่ข้อความแบบนี้ขึ้น

 “บัญชีผู้ใช้งานของคุณถูกระงับ ถ้ามีข้อสงสัยกรุณาดูในหมวดคำถามตามลิงค์นี้”

เราจะป้องกันไม่ให้ account ของเราถูกระงับได้ยังไง? เราต้องมาดูเหตุผลหลักๆ ว่า facebook นั้นส่วนใหญ่จะระงับ account ที่เข้าข่ายต่อไปนี้ครับ

1. มีภาพโป๊เปลือย :  ถ้าคุณมีภาพหรือวีดีโอที่เข้าข่ายนี้ บรรจุอยู่ใน facebook ของคุณล่ะก็ คุณมีสิทธิ์ถูกระงับบัญชีได้ทุกเมื่อ โดยที่จะไม่มีการแจ้งเตือนเลยแม้แต่นิดเดียว

2. ภาษาหยาบคาย ไม่เหมาะสม : ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้น ถ้ามีคนเข้ามาเห็นคำพูดที่ไม่เหมาะสมของคุณ แล้วกดปุ่ม report แจ้งไปที่ facebook ว่าคุณมีการใช้งานในลักษณะนี้

3. โปรไฟล์เทียม : ถ้าคุณสร้างโปรไฟล์ขึ้นมาแฝงตัวเป็นบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนคุณเอง ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่บุคคลมีชื่อเสียง เมื่อมีคนรายงานไปทาง facebook คุณก็มีสิทธิ์ถูกระงับ account ได้เช่นกัน

4. ใช้ facebook พูดจาข่มขู่คนอื่น : ถึงจะเป็นแค่การพูดเล่นก็เถอะ หากมีการร้องเรียนไปยัง facebook บัญชีของคุณจะถูกระงับทันที

5. ใช้คำพูด หรือนำเสนอเนื้อหาที่แสดงความเกลียดชัง สร้างความแตกแยก : คนไทยอาจจะเห็นเรื่องนี้ค่อนข้างบ่อยจนชินตาไปแล้ว กับการใช้ facebook เป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ หรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเมือง แน่นอนว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ แต่การใช้คำพูดที่รุนแรง ยุยง ปลุกปั้นนั้น จริงๆ แล้วที่ว่าเป็นการผิดนโยบายการใช้งานนะครับ facebook มีสิทธิ์ที่จะระงับ facebook ของคุณทันที หากมีคนร้องเรียนไป เพราะฉะนั้นระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นของคุณให้ดีๆ

6. ใช้ profile ผิดวัตถุประสงค์ : ตามนโยบายของ facebook นั้น Profile จะอนุญาตให้ใช้สำหรับการใช้งานส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ก็มีบ้างที่คนเอาหน้า profile ไปใช้งานเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ เช่นใช้เพื่อขายของ ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ซึ่งนับว่าเป็นการใช้งานผิดวัตถุประสงค์ ถ้าถูกจับได้ก็อาจจะโดนระงับบัญชีได้

7. ปล่อยไวรัส : อันนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก หากถูกตรวจพบว่าคุณเป็นผู้ปล่อยไวรัส คุณมีสิทธิ์ถูกระงับ facebook ทันทีเช่นกัน

8.  Add เพื่อนเยอะเกินไป : อันนี้เป็นเคสที่เจอบ่อยที่สุด โดยเฉพาะคนที่ต้องการ add เพื่อนเยอะๆ ไว้เล่นเกมส์ จะโดนระบบตรวจจับว่ามีพฤติกรรมน่าสงสัย เพื่อความปลอดภัย แนะนำให้ add เพื่อนวันละไม่เกิน 20 คนครับ

9. ร่วม group หรือ page เยอะเกินไป : อาจจะไม่ค่อยพบกรณีนี้นัก แต่มีคำแนะนำว่า ไม่ควรจะเข้าร่วมกลุ่ม หรือ like page เกินวันละ 200 หน้า

10. โพสท์ข้อความ หรือ ส่งข้อความเยอะเกินไป : ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การโพสท์ข้อความหรือลิงค์ซ้ำๆ กันไปบน wall ของเพื่อนหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นจุดประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์อะไรบางอย่างจริงๆ หรือจะเป็นการโพสท์ที่เกิดจากไวรัสแบบที่คุณไม่รู้ตัวนั้น ล้วนเป็นจุดที่ เสี่ยงและอาจทำให้ account ของคุณโดนระงับได้แบบไม่รู้ตัวทั้งนั้น

(ในกรณีที่คุณมีความจำเป็นจะต้องโพสท์ข้อความซ้ำๆ กันหลายครั้ง ขอแนะนำให้ดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนรูปประโยคในแต่ละข้อความซักเล็กน้อย ระบบตรวจสอบก็จะละเว้นและไม่นับว่าคุณส่งข้อความขยะ)

11. ผู้ใช้คนเดียวแต่มีโปรไฟล์หลายอัน : ถ้าคุณมีโปรไฟล์หลายอัน และทั้งหมดเป็นชื่อคนๆ เดียวกัน ข้อมูลเหมือนกัน  account อันใดอันหนึ่งของคุณก็อาจจะถูกระงับได้เช่นกัน

ที่มาจาก

http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1901764&pageno=1

พบเห็นเนื้อหาไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ตแจ้งได้ที่

http://www.thaihotline.org

 

หน้าถัดไป »

บลอกที่ WordPress.com .
Entries และ ข้อคิดเห็น feeds.