งานสัมมนา Social Media และการรู้เท่าทันสื่อ ณ โรงแรมเฮอร์มิเทจ รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 29 กรกฎาคม 2555

13/08/2012 เวลา 5:01 PM | เขียนใน กิจกรรมไทยฮอตไลน์ | ใส่ความเห็น

โครงการไทยฮอตไลน์ (www.thaihotline.org) โดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ได้จัดกิจกรรมสัมมนา Social Media และการรู้เท่าทันสื่อ ขึ้น ณ ห้องหิรัญกา โรงแรมเฮอร์มิเทจ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ไปจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกันที่ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นครู ผู้ปกครอง และนักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา รวม 45 หน่วยงาน 191 คน ให้ความสนใจในกิจกรรมเป็นอย่างมาก โดยในช่วงเช้าเป็นเวทีพูดคุยสัมมนาเกี่ยวกับ Social Media ซึ่งเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อสังคม และทำไมเราต้องเท่าทันสื่อ ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการฝึกกระบวนการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้นักเรียนสามารถนำไปขยายผลต่อในโรงเรียนและชุมชนได้

คุณศรีดา ตันทะอธิพานิช ได้อธิบายเกี่ยวกับ Social Media ว่าหมายถึง สื่อทางสังคม หรือการสื่อสารเพื่อประชาชนในสังคม ได้แก่ เว็บไซต์เฟสบุ๊ค ยูทิวบ์ ฟลิกเกอร์ ไฮไฟว์ ทวิตเตอร์ ฯลฯ ที่เราใช้กันอยู่นั่นเอง เหตุที่ต้องมาพูดคุยให้ความสำคัญกับ Social Media ก็ด้วยเพราะมีผู้ใช้จำนวนมาก เติบโตเร็วมาก ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก อินเทอร์เน็ตนั้นมีผู้ใช้มากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก อยู่ในทวีปเอเชียครึ่งนึง และในประเทศไทยมีผู้ใช้ประมาณ 20 ล้าน สำหรับเฟซบุ๊คนั้นยิ่งเติบโตเร็วมาก เพียงไม่กี่ปีก็มีผู้ใช้เกือบ 1 พันล้านคนแล้ว ถือเป็นสื่อที่โตเร็วมากที่สุดอย่างหนึ่ง

ด้วยลักษณะของอินเทอร์เน็ตคือ รวดเร็ว กว้างไกล ไร้พรมแดน นั่นคือเราเขียนอะไร ใส่อะไร โพสต์อะไรขึ้นไป ก็จะมีคนได้รับ ได้เข้ามาอ่านจำนวนเยอะมาก ทั่วโลก ขาดการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานศูนย์กลาง ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ยากที่จะควบคุมดูแลโดยกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง การรู้เท่าทันอินเทอร์เน็ต จึงต้องเท่าทันเนื้อหาข้อมูลที่อ่านว่าไม่ได้ถูกต้อง จริง หรือเป็นเรื่องดีเสมอไป ผู้คนบนอินเทอร์เน็ตก็คือคนธรรมดาที่มีดีเลวปะปนกัน ทำให้มีการหลอกลวงต้มตุ๋น ด่าทอ ในขณะที่มีเพื่อนแท้ที่ดูแลหรือคอยช่วยเหลือกันโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางก็เป็นไปได้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นทั้งผู้รับและผู้ส่งสาร ดังนั้นการจะใส่ภาพใส่ข้อความอะไรก็จะต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบถึงคนอื่น โดยเฉพาะสังคมคนหมู่มาก ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดบนคอมพิวเตอร์ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการดูแลการใช้งาน การเจาะระบบ การดักข้อมูล การนำเข้าเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ลามก การพนัน การส่งต่อข้อมูลที่ผิดกฎหมาย การร่วมเผยแพร่ การหมิ่นประมาท ล้วนแล้วแต่เป็นความผิดมีโทษทั้งจำและปรับ สำหรับผู้ใช้ที่พบเห็นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายหรือเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมสามารถคลิกแจ้งได้ที่ไทยฮอตไลน์ www.thaihotline.org

เกมคอมพิวเตอร์และเกมออนไลน์เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่เด็กๆ จะต้องเท่าทันเกม โดยการไม่ปล่อยให้ตัวเองเล่นเกมจนติด จะต้องเลือกเกมที่เหมาะสม ไม่มีเนื้อหารุนแรง ผิดกฎหมาย หรือผิดศีลธรรม เพราะอาจคุ้นชินกับพฤติกรรมไม่ดีในเกม ควรเล่นเกมวันละ 1-2 ชม.เท่านั้น โดยไม่ละเลยการบ้าน ความรับผิดชอบในหน้าที่ และกิจกรรมอื่นๆ ที่ควรมีอย่างสมดุล เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเกม

สำหรับสมาร์ทโฟนนั้น ค่อนข้างจะใช้กันมาก เพราะราคาถูกลง นอกจากใช้พูดคุยกันแล้ว สามารถดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ต่อเน็ตได้ด้วย ปัญหาคือว่าเด็กใช้โทรศัพท์มากเกินไป นอกจากเสียเงินจำนวนมากไปกับโปรโมชั่นต่างๆ แล้ว ยังรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขณะโทรแนบหู และการอยู่กับตัวเองมากเกินไปก็อาจทำให้เสียการเรียนและสัมพันธภาพกับเพื่อนและครอบครัวได้

อาจารย์พันธุ์ทิพย์ ทิมสุกใส ประธานสาขาครูวิทยาศาสตร์ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าประสบการณ์ที่ต้องทำงานกับเด็กและเยาวชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายไอทีต่างๆ ทำให้พบเห็นปัญหาของเด็กและเยาวชนที่พกเกมหรือโทรศัพท์มือถือติดตัวอยู่ตลอดเวลา ครูในปัจจุบันที่ทำงานกับเด็กก็จะพบปัญหาเด็กที่มีสมาธิสั้นอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กในชั้นอนุบาลที่มาเข้าค่ายหลายคนมีอาการสมาธิสั้น ซึ่งเกมหรือสื่อไอซีทีก็มีส่วนที่ทำให้เด็กเกิดอาการสมาธิสั้น จึงควรทำกิจกรรมฝึกให้เขามีสมาธิและดึงดูดความสนใจมาสู่กิจกรรมที่ทำอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วเกมมีทั้งคุณและโทษ จึงควรนำมาใช้ในด้านที่เป็นประโยชน์มากกว่า และควรเลือกเวลาเล่น จัดเวลาให้เล่นอย่างเหมาะสม ซึ่งคุณครูจะต้องเป็นผู้ดูแลให้ดี และยิ่งมีเรื่องนโยบายการแจกแท็บเล็ตด้วย ก็อาจจะมีส่วนทำให้เกิดปัญหาเด็กติดเกมมากขึ้นในอนาคตหากดูแลกันไม่ดี

นางสาวนิตยา เศรษฐจันทร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ วิทยากรมากประสบการณ์ กล่าวเสริมว่า มีกรณีศึกษามากมายจากผู้ที่มารับคำปรึกษา พบว่าหลายครอบครัวมีปัญหาที่บุตรหลานไม่อยากเรียน และเล่นเกมหาเงินทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะมีรายได้มากกว่าที่ผู้ปกครองหาได้ ซึ่งลูกที่อยู่ในวัยรุ่นก็จะต่อต้านพ่อแม่ตลอด จึงไม่คิดที่จะเรียน ซึ่งคุณแม่ไม่รู้เรื่องว่าลูกเล่นเกมอะไร และมองว่าลูกที่ดีจะต้องทำตามที่แม่บอกกล่าว ซึ่งแม่ก็พยายามควบคุมดูแลไม่ให้เด็กเล่นเกมแล้ว แต่ลูกก็พยายามซ่อน เด็กคนนั้นบอกว่าในเกมนั้นสีสันสดใส เล่นแล้วสนุก แม้จะแพ้ก็ไม่ถูกว่า และลูกก็จะเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมจากเกม พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรเข้าใจลูกและพยายามเป็นเพื่อนกับลูก พูดคุยกันให้อยู่ในกฎกติกา ซึ่งหากลูกเล่นเกมอย่างไร้กฎกติกา ก็จะทำให้พ่อแม่ทะเลาะกันและเกิดปัญหาในครอบครัวได้ ซึ่งจริงๆ แล้วสื่อนั้นมีไว้ให้คิด ไม่ใช่มีไว้ให้เชื่อ ปัจจุบันเด็กและเยาวชนในประเทศเกาหลีจะนิยมทำศัลยกรรมกันมาก ต้องการที่จะหุ่นดี หน้าตาดี ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเลย และหากพ่อแม่เขารักลูกเป็นก็จะเสริมสร้างความภูมิใจและมั่นใจให้บุตรหลานของตนเองไม่ให้หลงกับภาพลักษณ์ภายนอก ในจังหวัดนครราชสีมานั้น เด็กและเยาวชนมักจะไปเดินซื้อเครื่องสำอางที่ไนท์บลาซ่า เพราะอยากให้ตัวเองดูสวยดูดี เพราะเข้าใจว่าสวยจึงมีคนรัก แต่ความรักคือการมีความจริงใจให้กัน ไม่หวาดระแวงกัน พ่อแม่จึงควรมีความเชื่อใจให้กับลูก ควรพูดคุยสื่อสารกัน ควรจับถูกมากกว่าจับผิด ชื่นชมและให้กำลังใจลูกมากกว่าจะดุด่าและปรามาส กดดันจนลูกต้องออกไปหาเพื่อนหรือเกม ซึ่งอาจเกิดปัญหาที่ทำให้เสียใจภายหลัง

นางแสงทิพย์ วชิรอนุพงศ์ ผู้ประกอบร้านเกม/อินเทอร์เน็ตในชุมชน กล่าวว่า ร้านอินเทอร์เน็ตของตนจะเปิดถูกต้องตามกฎหมาย และมีการเปิดให้บริการตามเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจะเข้าใช้บริการได้หลังบ่ายสองโมงถึงสองทุ่ม และหลังสี่ทุ่มก็จะไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีนั่งเล่นต่อไปในร้านได้ ในร้านก็จะมีการดูแลโดยไม่ใส่เกมที่รุนแรงลงไป มีการแจ้งเตือนให้เด็กๆ กลับบ้านโดยรับฝากจากผู้ปกครอง ซึ่งจริงๆ แล้วร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ตในนครราชสีมาจะมีจำนวนมาก ซึ่งร้านที่ไม่ดีไม่ดูแลเด็กก็มีอยู่มาก คงจะต้องช่วยกันดูแล เด็กๆ ควรจะเลือกเล่นเกมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากกว่าที่จะเล่นเกมไม่เหมาะสม

อาจารย์ละเอียด เหลืองกระโทก เครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนสวนหม่อน จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่าในฐานะที่ตนเองเป็นครูมายาวนานกว่า 40 ปี และได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ปกครองหลายท่านพบว่ามีหลายเรื่องที่เกิดปัญหาเพราะเด็กเล่นเกม เด็กอยู่ในวัยที่ตามเพื่อน และมักจะขอร้องให้พ่อแม่ซื้อเกมให้ตามเพื่อน เมื่อเล่นแล้วก็จะติดและการเรียนก็ตกลง สายตาก็เริ่มเสีย ซึ่งแก้ไขไม่ได้ มีเด็กที่เล่นเกมมากและส่งผลกระทบต่อสายตาจนตาบอดเลยก็มี ซึ่งเด็กที่ติดเกมจะมีปัญหามากในแง่ของการไม่เชื่อฟังครูและผู้ปกครอง สนใจแต่จะเล่นเกม ยิ่งเด็กที่อยู่กับคุณตาคุณยายแล้ว คุณตาคุณยายก็มักจะตามใจหลาน และซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ให้หลานเพราะเห็นหลานเล่นเกมแล้วมีความสุข ซึ่งเด็กหลายคนเล่นเกินเวลา จนไม่สนใจเรื่องอื่นเลย ซึ่งพ่อแม่ยุคใหม่ต้องสังเกตพฤติกรรมของลูก รู้ว่าลูกเล่นเกมอะไร รวมถึงฝึกระเบียบวินัยลูก และสอนให้ลูกรู้จักแบ่งเวลาให้ดี ผู้ปกครองควรทราบเบอร์เพื่อนสนิทของลูกไว้ด้วย เพื่อจะได้สอบถามการบ้าน ตรวจสอบพฤติกรรมของลูก สอนให้ลูกรู้จักมีความรับผิดชอบ มอบหมายงานและติดตามผลว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งหากเกิดปัญหาก็ต้องรีบแก้ไข ซึ่งเด็กอนุบาลที่เล่นเกมรุนแรงอาจเกิดพฤติกรรมรุนแรง ไปชกต่อยกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้

นานาสาระความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรหลากหลาย ก็ได้แต่หวังว่าพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในบ้านเราคงได้แง่คิดมุมมองดีๆ ในการนำไปปรับใช้กับบุตรหลานในยุคสมัยนี้ที่เด็กเชื่อสื่อมากกว่าเชื่อพ่อแม่

ให้ความเห็น »

RSS feed for comments on this post. TrackBack URI

ใส่ความเห็น

สร้างเว็บไซต์หรือบล็อกฟรีที่ WordPress.com.
Entries และ ข้อคิดเห็น feeds.