งานสัมมนา Social Media และการรู้เท่าทันสื่อ ณ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันที่ 23 กรกฎาคม 2555

13/08/2012 เวลา 4:39 PM | เขียนใน กิจกรรมไทยฮอตไลน์ | ใส่ความเห็น
ป้ายกำกับ:

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ไทยฮอตไลน์ (www.thaihotline.org) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ได้จัดกิจกรรมสัมมนา Social Media และการรู้เท่าทันสื่อ ขึ้น ณ โรงเรียนปรินส์รอยเยลส์วิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากถึง 39 หน่วยงาน 165 คน


คุณพิสนฑ์ ศรีบัณฑิต เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สาธารณสุขเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวิทยากรท่านหนึ่งในเวทีได้ให้ข้อคิดว่า ปัญหาของเด็กและเยาวชนกับสื่อเป็นของคู่กัน ในปัจจุบัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจำนวนมากในจังหวัดเชียงใหม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เช่น iPhone 4S ซึ่งมีราคาแพงมาก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น ก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมมากมายตามมาโดยเฉพาะการใช้งานที่มากเกินไป การที่เด็กดูสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ สื่อทางโทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต แล้วอยากผอม อยากหน้าขาว อยากมีตาโต จัดฝันแฟชั่น ฯลฯ คือดูสื่อแล้วอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ก็เพราะไม่รู้เท่าทันโฆษณา

คุณนิคม ชัยขุนพล นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวเสริมว่า ทำไมเราต้องรู้เท่าทันสื่อ? และเราสามารถรู้เท่าทันสื่อได้อย่างไร? องค์ประกอบสำคัญสี่อย่าง ได้แก่

1. สามารถเข้าถึงสื่อได้ : คือการเข้าไปใช้สื่อได้ ซึ่งในปัจจุบันเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อได้โดยง่าย ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ซึ่งเมื่อสามารถเข้าถึงสื่อได้ ก็มีโอกาสรู้เท่าทันได้
2. สามารถวิเคราะห์ได้ : ทราบว่าสื่อต้องการบอกอะไรกับเรา ชักจูงให้เราซื้ออะไร ทำอะไร
3. สามารถประเมินค่าได้ : ว่าสิ่งที่สื่อบอกสามารถนำมาใช้ได้จริงมากน้อยแค่ไหน
4. สามารถตอบสนองได้ : คือการเลือกที่จะปฏิเสธสิ่งที่สื่อพยายามบอกได้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ซื้อ หรือแจ้งหน่วยงานเมื่อพบกับโฆษณาที่มีการหลอกลวง

คุณประไพ สุริยะมล (แม่ครูแสงเอ้ย ป่าดำ) ครูภูมิปัญญาไทย รุ่น 7 เห็นว่าสื่อใหม่มีอิทธิพลมาก แต่ไม่อยากให้เด็กหลงลืมสื่อเก่า ไม่ว่าจะเป็นเพลง หรือ ธรรมะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็มีอยู่มากมายในหลายท้องถิ่น เผยแพร่ในระบบวิทยุเอเอ็ม ( A.M.) แต่ปัจจุบัน วิทยุเอเอ็มลดน้อยลงอย่างมากทั้งๆ ที่มีรายการที่ไม่เป็นพิษภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงมีการสอดแทรกเนื้อหาสาระดีๆ และเรื่องคุณธรรมต่างๆ ให้กับผู้ฟัง จึงหวังว่าวิทยุชุมชนจะเป็นสื่อที่ดีสำหรับทุกคนและมีการสืบสานกันต่อไป

คุณอัมพร บุญตัน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชนคนห้วยทราย ในฐานะที่ส่งเสริมเยาวชนผลิตสื่อดี ได้เสนอแนะว่า ผู้ผลิตสื่อเองก็ควรจะผลิตสื่อที่มีจรรยาบรรณ ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตสื่อมักจะผลิตสื่อที่เป็นพิษปริมาณมากกว่าที่เป็นประโยชน์ ทางรัฐเองก็ควรออกกฎหมายควบคุมในเรื่องการจัดการสื่อให้ได้ด้วย และมีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เพื่อควบคุมสื่อให้มีจรรยาบรรณ และส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างสื่อ และสนับสนุนกองทุนสื่อสร้างสรรค์

คุณศรีดา ตันทะอธิพานิช นักวิชาการอินเทอร์เน็ตฯ กล่าวว่า Social Media นั้นเติบโตเร็วมาก หากเรารู้ไม่เท่าทันก็จะตกเป็นเหยื่อ การใช้อินเทอร์เน็ตต้องรู้จักเลือกอ่านเลือกเชื่อเนื้อหา เลือกคบคน และไม่ใช้เวลาออนไลน์มากเกินไป การเล่นเกมสามารถทำได้ แต่ควรเลือกเกมที่ไม่รุนแรง ไม่ผิดศีลธรรม และควบคุมเวลาการเล่นของตนเองอย่างมีวินัย ต้องมีสมดุลในชีวิต เพราะนอกจากการออนไลน์การเล่นเกมยังมีกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับคนจริงๆ สังคมจริงๆ ที่ควรทำมากกว่านั่งขลุกหน้าจอ การใช้โทรศัพท์มือถือ ก็ต้องเท่าทันในแง่ของโฆษณาโปรโมชั่นต่างๆ การหลีกเลี่ยงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ออกมาจากโทรศัพท์ และมารยาทในการใช้โทรศัพท์โดยไม่รบกวนคนรอบข้าง ฯลฯ

ทุกคนสามารถร่วมด้วยช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสเมื่อพบเนื้อหาไม่เหมาะสม เว็บไซต์ผิดกฎหมายต่างๆ ผ่านไทยฮอตไลน์ www.thaihotline.org โดยสามารถแจ้งเนื้อหาในกลุ่มสื่อลามกและการละเมิดและหาประโยชน์จากเด็ก สื่อลามกอนาจารและการค้าประเวณี การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล หมิ่นประมาท หมิ่นสถาบัน การก่อการร้าย การพนัน ยาเสพติด การละเมิดลิขสิทธิ์ ฟิชชิ่ง (ฉ้อโกงทางการเงิน) ขายยาผิดกฎหมาย ฯลฯ

ให้ความเห็น »

RSS feed for comments on this post. TrackBack URI

ใส่ความเห็น

สร้างเว็บไซต์หรือบล็อกฟรีที่ WordPress.com.
Entries และ ข้อคิดเห็น feeds.